วันพฤหัสบดีที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2560

การมีส่วนร่วมในผลงานทางวิชาการ

ประเด็นเรื่องการมีส่วนร่วมในผลงานทางวิชาการ เป็นเรื่องที่หลายคนไม่เห็นด้วย หลายคนที่ได้ทราบถึงการขอตำแหน่งทางวิชาการในประเทศอื่นๆ ก็ทราบว่า ในประเทศนั้นๆ ไม่มีการแบ่งความมีส่วนร่วมในผลงานทางวิชาการ แต่อย่างไรก็ดี ในประเทศไทยภายใต้กฎ กพอ. ในปัจจุบัน และในอนาคต การมีส่วนร่วมในผลงานทางวิชาการ ยังเป็นเรื่องที่ยังต้องถือปฏิบัติอยู่ ถึงแม้ว่าผู้รับผิดชอบในมหาวิทยาลัยบางแห่ง ได้เสนอผ่านไปแล้ว ให้ถือการมีส่วนร่วมในผลงานตามภาระงานที่ทำ แต่ในเมื่อยังไม่มีการแก้ไข ในฐานะที่เป็นอาจารย์ที่มี กฎของ กพอ. ครอบคลุมอยู่ในการขอตำแหน่งทางวิชาการ จึงยังต้องถือปฏิบัติต่อไป  ในบทความนี้ จึงขอกล่าวถึงสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ หรือประเด็นที่น่าสังเกต ต่อการแบ่งส่วนร่วมในผลงาน เท่าที่มีประสบการณ์จาการได้คลุกคลีใน การขอกไหนดตำแหน่งทางวิชาการมาพอเป็นสังเขป
การแบ่งส่วนร่วมในตำแหน่งวิชาการ โดยหลักการแล้ว ถือตามภาระงานที่ทำ ซึ่งในปัจจุบันแบบฟอร์มการมีส่วนร่วมในผลงานทางวิชาการ จะมีการระบุหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับผลงานนั้นๆ ว่ามีหน้าที่ใดบ้าง ซึ่งผู้เป็นผู้วิจัยหลัก จะต้องมีส่วนร่วมที่สำคัญ เช่น เป็นผู้ริเริ่มแนวความคิด ร่าง proporsal ดำเนินการขอทุน รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล เขียนบทความ เป็นต้น ในมหาวิทยาลัยมหิดลยอมรับความเป็นผู้วิจัยหลัก 2 ทาง คือ การเป็นชื่อแรก และการเป็น corresponding author แต่หารผู้ขอเป็นข้าราชการ ยังต้องใช้กฎของ กพอ. คือ เป็นชื่อแรกเพียงอย่างเดียว ซึ่งชื่อแรกที่จะเป็นงานหลักในการพิจารณาผลงานทางวิชาการ ผู้ที่เป็นผู้ดำเนินการหลักจะต้องมีส่วนร่วมไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 หากเป็นชุดวิจัย สามารถนำส่วนแบ่งในแต่ละโครงการย่อย มารวมกันให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50ได้ และจะต้องเป็น primary investigator ในบาง โครงการย่อย ส่วน corresponding author นั้น ไม่ได้ระบุว่าจะต้องมีส่วนร่วมเท่าไร แต่กรรมการวิชาการของมหาวิทยาลัยมหิดล ให้แนวทางไว้ว่า ควรมีส่วนแบ่งไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ข้อสังเกตต่างๆ จะสรุปเป็นข้อๆ ดังนี้

  1. การแสดงการมีส่วนร่วมในผลงานที่ได้มีการแบ่งเป็นลายลักษณ์อักษร และมีผู้นำไปใช้ขอตำแหน่งแล้ว จะเปลี่ยนแปลงมิได้ การลงนามในส่วนแบ่งนั้น ถือเป็น ข้อตกลงที่จะยึดถือไปตลอด การจะให้ส่วนแบ่งกันอย่างไร ให้คุยกันจนเกิดข้อตกลง หากมีผู้ร่วมวิจัย ที่ขอตำแหน่งภายหลัง จากมีผู้ขอไปล่วงหน้าแล้ว ไม่ว่าจะนานเพียงใด จะมาแบ่งส่วนร่วมกันใหม่ ที่ไม่ตรงกับครั้งก่อน ทั้งที่ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ จะทำไม่ได้ ซึ่งมหาวิทยาลัยจะมีการเก็บข้อมูลเก่าไว้ หากมีการตรวจพบภายหลังจากที่ได้รับตำแหน่งไป อาจจะนำมาสู่การถอดถอนได้  จึงแนะนำว่า แบ่งส่วนร่วมให้เสร็จสิ้นตั้งแต่ต้น แล้วทำสำเนาแจกจ่ายให้ผู้ร่วมงาน ทุกคน
  2. ผู้ที่มีชื่อเป็นผู้ร่วมดำเนินงาน ในผลงานนั้น ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใด จะต้องได้รับส่วนแบ่งทุกคน ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา ที่ทำงานชิ้นนั้นเพราะอยู่ในหลักสูตร หรือทำวิจัยไปช่วงหนึ่งแล้วเกษียน หรือลาออก หรือเสียชีวิต จะต้องมีส่วนแบ่งทั้งสิ้น การได้รับส่วนแบ่งน้อยเกินไป จะต้องอธิบายว่าเพราะเหตุใด ที่ผ่านมาที่มีจำนวนผู้ร่วมงานไม่มาก แต่ได้รับส่วนแบ่ง เพียง ร้อยละ 1 หรือเป็นจุดทศนิยม จะต้องอธิบาย ส่วนการแบ่งให้ได้ ร้อยละ 0 เพราะทำงานเนื่องจากเป็นภาคบังคับเพราะอยู่ในหลักสูตร ทำไม่ได้
  3. การมีส่วนร่วมนี้ ไม่สามารถ ยกให้ผู้ใดได้ อาทิเช่น ผู้ร่วมงานท่านใดท่านหนึ่งเกษียนอายุ และไม่มีความประสงค์จะนำการมีส่วนร่วมนั้น ไปใช้ในการขอตำแหน่งใดๆ จะยกส่วนร่วมนั้นให้ผู้ร่วมงานท่านอื่น มิได้ หรือนำเอาคำบอกกล่าว จากครอบครัวว่า ผู้ร่วมงานท่านใดท่านหนึ่งว่า ได้เคยปรารภว่า จะไม่ขอใช้การมีส่วนร่วใใดๆ ก่อนเสียชีวิต จะทำไม่ได้
  4.  ผู้ที่มีชื่อในลำดับ รอง คือไม่ใช่ชื่อแรก ได้รับส่วนแบ่งมากกว่าชื่อแรก ทั้งๆที่ไม่ได้เป็น corresponding author จะเป็นที่น่าสังเกต และไม่เข้าหลักเกณฑ์ เพราะถึงแม้จะได้รับส่วนแบ่งมาก ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ก็จริง หากไม่ใช่ชื่อแรกก็ไม่สามารถใช้ส่วนแบ่งนั้นให้เกิดประโยชน์ในการขอตำแหน่งทางวิชาการอยู่ดี
  5. Corresponding author ได้รับส่วนแบ่งในผลงานน้อยเกินไป ไม่สมกับเป็น corresponding ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลให้แนวทางไว้ ว่าไม่ควรน้อยกว่าร้อยละ 10
  6. การอ้างตัวเป็น corresponding author จะต้องมีหลักฐานยืนยัน เช่นมีการระบุในผลงานว่า ชื่อใดเป็น corresponding แต่หากในวารสารนั้นๆ ไม่ได้มีการระบุเรื่อง corresponding สามารถใช้หลักฐานประกอบได้เช่น การเป็นผู้ขอทุน การติดต่อกับบรรณาธิการ การตรวจแก้ไขบทความ เป็นต้น
  7. ต้องพยายามให้ผู้ร่วมงานลงลายมือช่่อให้ครบ หรือให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้วิจัยหลักหรือเจ้าของโครงการ หากติดต่อไม่ได้ต้องแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการติดต่อ เช่น e mail หลายครั้ง ติดต่อไปยังสถาบันต้นสังกัด หรือผ่านผู้บังคับบัญชา เป็นต้น หากไม่มีผู้อื่นลงลายมือชื่อ ส่วนแบ่งในผลงานจะหารเท่ากัน เช่น มี 5 คน จะได้ส่วนแบ่งคนละ 20% ทั้งๆที่เราเป็นชื่อแรก ต้องการจะได้50% ก็จะไม่ได้ตามนั้น
  8. การลงลายมือชื่อ ควรทำให้จบในหน้าเดียว ไม่ควรพิมพ์จนล้นไปหน้าหลัง หรือแผ่นใหม่ เพราะผู้ที่ลงนามในอีกหน้าหนึ่ง อาจจะไม่เห็นข้อความที่ตรงกันกับความเป็นจริง หมายถึงมีเจตนาไม่สุจริต โดยเมื่ผู้มีชื่อในอีกหน้าหนึ่งเห็นส่วนแบ่ง ของผู้ที่อยู่ในหน้าแรก การแบ่งอาจจะไม่ตรงกันกับที่ส่งไปยังมหาวิทยาลัย โดยมีการพิมพ์ข้อความที่แตกต่างแทน แล้วใช้การถ่ายเอกสาร หากมีรายชื่อมาก ควรลดขนาดfont หรือทำเป็น column หากไม่สามารถทำได้เพราะจำนวนผู้ร่วมงานมาก มีความจำเป็นต้องพิมพ์ 2 หน้า ก็ต้องให้ผู้ร่วมงานที่ต้องลงนามในหน้าหลัง มาลงนามอย่างสั้น ในท้ายกระดาษหน้าแรกด้วย เพื่อแสดงให้เห็นว่าได้เห็นข้อความแล้ว
  9. บางครั้งผู้ร่วมงานอยู่ในหลายสถานที่ หลายประเทศ จึงได้ส่งแบบลงลายมือชื่อแยกไปในแต่ละประเทศ เมื่อได้แบบฟอร์มกลับมา จะมีหลายแผ่น ห้ามตัดเอาลายเซ็นของแต่ละคน มาปิดรวมกันเป็นแผ่นเดียว คือ ได้มาอย่างไรต้องส่งแบบนั้นเมื่อใช้ขอตำแหน่งทางวิชาการ ถึงแม้จะดูไม่สวยงาม แต่การตัดมาปิดใหม่ ส่อไปในทางทุจริต
  10. หากไม่สามารถติดต่อผู้ใดได้ แต่เคยตกลงด้วยวาจาไว้ถึงส่วนแบ่ง เมื่อทำแบบฟอร์ม และแบ่งความมีส่วนร่วมแล้ว ห้ามปลอมลายมือชื่อ ในช่องลงลายมือช่อให้ระบุว่าติดต่อไม่ได้ แต่อย่างไรก็ดี ควรใช้ความพยายามในการติดตามมาลงลายมือชื่อให้ได้
  11.  เมื่อทำวิจัยเสร็จสิ้น ควรแบ่งการมีส่วนร่วมให้เรียบร้อย เพราะอาจจะมีการย้ายที่อยู่ หรือ อาจจะทะเลาะกัน จนไม่ยอมลงชื่อ โดยเฉพาะผู้ที่ทำวิจัยในต่างประเทศ ผู้ร่วมงานบางคน อาจจะกลับประเทศตนเอง ที่ยากต่อการติดต่อ
  12. เมื่อมีการประชุมวิชาการ จะมีโอกาสพบกับผู้ร่วมวิจัยบางคนที่ไม่ได้ติดต่อกันมาก่อน จึงควรถือแบบลงลายมือชื่อติดไปด้วย

วันจันทร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2560

เกณฑ์ คุณภาพ ผลงานทางวิชาการ

คงได้ยินอยู่บ่อยๆ เรื่องเกณฑ์คุณภาพผลงานทางวิชาการ ดี ดีมาก ดีเด่น ในบทความนี้จึงจะสรุปเกณฑ์ ต่างมาเป็นแนวทาง ว่า การที่ผู้ทรงคุณวุฒิ ใช้ในการประเมิน และสรุปผลในแต่ละผลงานว่าอยู่ในเกณฑ์ใด มีหลักเกณฑ์ ในการพิจารณาอย่างไร
บทความทางวิชาการ หมายถึงงานเขียนที่มีการกำหนดประเด็นล่วงหน้า และอธิบายประเด็นนั้น มีการวิเคราะห์ชัดเจนตามหลักวิชาการ อาจนำความรู้มาจากหลายแหล่งมาประมวลกัน แล้ววิเคราะห์จนได้ข้อสรุป รวมถึงมีข้อสังเกต และทัศนะของผู้เขียน มีการอ้างอิงครบถ้วน  การเผยแพร่ อาจจะเป็นในรูปแบบของวารสารสิ่งพิมพ์ หรือโดยสื่อ อีเลคโทรนิคส์ หรือรวมในหนังสือประมวลบทความในการประชุมวิชาการ ที่เรียกว่า proceedings

  • ดี หมายถึง บทความมีเนื้อหาทางวิชาการถูกต้อง สมบูรณ์ ทันสมัย มีการนำเสนอชัดเจน เป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการ
  • ดีมาก ต้องผ่านเกณฑ์ ดีก่อน แล้วมีสิ่งเพิ่มเติม คือ มีการวิเคาระห์และเสนอความรู้ หรือสิ่งที่ทันสมัยต่อวงวิชาการ และสามารถนำไปอ้างอิงปฏิบัติได้
  • ดีเด่น ต้องผ่านเกณฑ์ดีมากมากาอน และต้องมีสิ่งเพิ่มเติมคือ มีลักษณะงานบุกเบิกทางวิชาการ มีการสังเคราะห์จนเกิดองค์ความรู้ใหม่ มีการกระตุ้นให้เกิดความคิดต่อเนื่อง เป็นที่ยอมรับในวงวิชาการ ระดับชาติหรือนานาชาติ
ข้อสังเกต บทความทางวิชาการ ต่างจากงานวิจัย ซึ่งมีขบวนการวิจัยเป็นรากฐาน ตามสาขาวิชานั้นๆ ผลการพิจารณาให้เกณฑ์ดี ดีมาก จะต้องมีผลการวิจัยของตนเองประกอบ หรือทำงานด้านนั้นๆมานาน จนสามารถวิเคราะห์ สังเคราะห์ แทรกความคิดเห็นได้ ยิ่งถ้าเป็นเกณฑ์ระดับดีเด่น จะต้องพิมพ์เป็นภาษาต่างประเทศ
ตำรา หมายถึงผลงานทางวิชาการที่เรียบเรียงอย่างมีระบบ ครอบคลุมเนื้อหาวิชา หรือส่วนหนึ่งของวิชา ตามหลักสูตร ในการเรียนการสอนระดัมอุดมศึกษา มีความทันสมัยนับถึงวันยื่นขอตำแหน่งทางวิชาการ  จะต้องระบุระหัสวิชาที่ตำราใช้ในการเรียนการสอน  มีการพิมพ์เผยแพร่เป็นเล่ม หรือในรูปอีเลคโทรนิคส์ มีองค์ประกอบคือ คำนำ สารบัญ เนื้อเรื่อง สรุป การอ้างอิง และดัชนีค้นคำ เป็นต้น ระยะเวลาที่นำมาใช้ขอตำแหน่งทางวิชาการต้องผ่านการเผยแพร่มา อย่าน้อย1 ภาคการศึกษา

  • ดี หมายถึง มีเนื้อหา สาระทางวิชาการถูกต้อง สมบูรณ์ ทันสมัย มีแนวความคิดนำเสนอที่ชัดเจน เหมาะสมกับการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษา
  • ดีมาก ต้องผ่านเกณฑ์ ดี มาก่อน แล้วมีสิ่งที่เพิ่มขึ้นมา คือ มีการวิเคราะห์ เสนอความรู้ที่ทันสมัย มีการสอดแทรกความคิดริเริ่ม ประสบการณ์ หรือผลงานวิจัยของผู้เขียน และสามารถนำไปใช้อ้างอิงได้
  • ดีเด่น ผ่านเกณฑ์ ดีมากมาก่อน และต้องมีสิ่งที่เพิ่มคือ เป็นลักษณะการบุกเบิกทางวิชาการ และมีการสังเคราะห์จนเกิดองค์ความรู้ใหม่ ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ทำให้เกิดการกระตุ้นให้มีแนวความคิดต่อเนื่อง เป็นที่เชื่อถือยอมรับในวงวิชาการ วงวิชาชีพ ระดับชาติ หรือนานาชาติ 
ข้อสังเกต ตำรา จะต้องผูกติดกับหลักสูตรการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษา หากไม่สามารถระบุระหัสวิชาที่ใช้เรียนใช้สอนได้ จะไม่เรียกว่าตำรา แต่เรียกว่าหนังสือ ถึงแม้ว่า ชื่อจะระบุว่า เป็นตำรา ก็ตาม การได้รับเชิญ ไปเขียนตำราในมหาวิทยาลัยอื่น มีระหัสวิชาของมหาวิทยาลัยนั้นๆ ในเมื่อไม่มีระหัสวิชาของมหาวิทยาลัยเรา กำกับ ก็ถือเป็นหนังสือ
หนังสือ เป็นเอกสารทางวิชาการ ที่เรียบเรียงขึ้นมาบนพื้นฐานความรู้มางวิชาการ มีทัศนะของผู้เขียน สร้างเสริมภูมปัญญาและแนวคิด แก่ผู้อ่าน โดยไม่ต้องสอดคล้องกับหลักสูตรการเรียนการสอน แต่เหมาะกับผู้อ่านระดับอุดมศึกษา เผยแพร่เป็นรูปเล่ม หรือสื่ออีเลคโทรนิคส์ และผ่านการเผยแพร่มาไม่น้อยกว่า 4 เดือน จึงจะนำมาใช้ขอตำแหน่งทางวิชาการได้

  • ดี หมายถึง มีเนื้อหา สาระทางวิชาการถูกต้อง สมบูรณ์ ทันสมัย มีการนำเสนอแนวความคิดชัดเจนต่อวงวิชาการ
  • ดีมาก ผ่านเกณฑ์ดี มาก่อน และต้องมีการวิเคราะห์ สอดแทรกความคิดริเริ่ม ประสบการณ์ หรืองานวิจัยของผู้เขียน สามารถนำไปใช้ นำไปปฏิบัติได้
  • ดีเด่น ผ่านเกณฑ์ ดีมากก่อน และมีสิ่งที่เพิ่มขึ้นมา คือ มีลักษณะของการบุกเบิกทางวิชาการจนเกิดองค์ความรู้ใหม่ มีการกระตุ้นให้เกิดความคิดต่อเนื่อง เป็นที่ยอมรับในวงวิชาการระดับชาติ นานาชาติ 
ข้อสังเกต ตำรากับหนังสือ หากจะให้ได้เกณฑ์ ดีมาก ดีเด่น  จะต้องมีการอ้างอิงงานวิจัยของผู้เขียน
งานวิจัย เป็นผลงานทางวิชาการ ที่เป็นงานศึกษาค้นคว้าอย่างมีระบบวิธีการวิจัย ที่เป็นที่ยอมรับในสาขาวิชานั้นๆ มีวัตถุประสงค์ที่จะตองคำถามใดๆอย่างชัดเจน มีการหาข้อมูล รวบรวมมาอย่างมีระบบ  มีการวิเคราะห์ข้อมูล ให้ได้ข้อสรุป นำไปสู้ความก้าวหน้าทางวิชาการ หรือเอื้อต่อการนำไปประยุกต์ รูปแบบการนำเสนอ อาจจะเผยแพร่เป็นบทวิจัย ในวารสาร ทั้งที่เป็นรูปแบบการพิมพ์ หรือสื่ออีเลคโทนรนิคส์ หรือเป็นรายงานการวิจัยก็ได้ หรือนำเสนอในการประชุมวิชาการแล้วมีการรวบรวมเป็นบทความวิจัย(proceedings) ของการประชุม หรือเป็นการนำเสนอในรูปแบบ รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ ที่ผ่านการประเมินจากผู้ทรงคุณวุฒิ

  • ดี หมายถึง เป็นการวิจัย ที่ทำถูกต้องตามขั้นตอน เหมาะสม ระเบียบวิธีวิจัยถูกต้อง แสดงถึงความก้าวหน้าทางวิชาการ
  • ดีมาก ผ่านเกณฑ์ ดี มาก่อน และมีสิ่งที่เพิ่มคือ ต้องแสดงถึงการวิเคาระห์และนำเสนอผล เป็นความรู้ใหม่ ที่ลึกซึ้งกว่างานเดิม ที่มีผู้ทำมาก่อน 
  • ดีเด่น ผ่านเกณฑ์ ดีมากมาก่อน และมีสิ่งที่เพิ่มคือ เป็นงานบุกเบิก มีการสังเคาระห์จนเกิดองค์ความรู้ใหม่ เป็นที่ยอมรับ อ้างอิง ในวงวิชาการระดับชาติ และ/หรือ นานาชาติ
ข้อสังเกต การวิจัยจะต้องมีขบวนการทำวิจัย ที่สอดคล้องกับวิชาการสาขานั้นๆ การทำวิจัยเลียนแบบผู้อื่น ที่ไม่ได้ทำให้ดีกว่า ไม่ถือเป็นเกณฑ์ดีมาก และหากไม่ได้เกิดความรู้ใหม่ หรือไม่ได้ตีพิมพ์ในระดับนานาชาติ โอกาสน้อยที่จะถึงเกณฑ์ ดีเด่น
ผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่น ไม่ใช่ผลงานทางวิชาการที่ปรากฏออกมาเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น งานวิจัย บทความ ตำรา หรือหนังสือ ทั้งที่เป็นรูปเล่ม หรือรูปสื่ออีเลคโทรนิคส์ โดยปกติ หมายถึงสิ่งประดิษฐ์ หรืองานสร้างสรรค์ เช่น เครื่องมือ อุปกรณ์อำนวยความสะดวก วัคซีน ผลงานศิลปะ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ การเผยแพร่่ใช้งานมีได้หลายรูปแบบที่ตรงกับวัตถุประสงค์ของงานนั้นๆ เช่น การจัดนิทรรศการ การสาธิต การแสดง เป็นต้น หากเป็นสิ่งประดิษฐ์ ต้องมีสิทธิบัตรยืนยัน การนำเสนอเพื่อใช้ในการขอตำแหน่งทางวิชาการ นอกจากจะแสดงถึงแนวความคิด การใช้งานแล้ว จะต้องแสดงให้เห็นถึงความแพร่หลาย เช่นหากเป็นเครื่องมือ อุปกรณ์ ก็ต้องมีผู้อื่นนำไปใช้งานด้วย

  • ดี หมายถึง เป็นงานใหม่ หรือมีการประยุกต์จากสิ่งที่มีอยู่แล้ว เกิดประโยชน์แก่วงวิชาการด้านใดด้านหนึ่ง
  • ดีมาก ผ่านเกณฑ์ ดี แล้ว มีสิ่งเพิ่มคือ มีการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  • ดีเด่น ผ่านเกณฑ์ ดีมาก และเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการ ระดับชาติและ/หรือ นานาชาติ

ข้อสังเกต ผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่น ในความหมายทั่วไปคือสิ่งประดิษฐ์ หากไม่มีสิทธิบัตรยืนยัน จะไม่ผ่านเกรฑ์ ดีมาก ไม่สามารถผ่านการประเมินในการขอกำหนดตำแหน่งวิชาการระดับสูงได้
งานแปล เป็นการแปลวรรณกรรม จากภาษาหนึ่งไปเป็นอีกภาษาหนึ่ง เมื่อแปลแล้วเกิดความก้าวหน้าทางวิชาการ จะแปลภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทย หรือไทยเป็นภาษาต่างประเทศ การแปลจะต้องแปลตามเนื้อหาเดิมที่ผู้เขียนเขียนไว้ หากจะมีการแทรกความคิดเห็นของผู้แปล จะต้องแยกส่วนต่างหารให้ชัดเจนว่า ไม่ใช่ข้อความเดิมจากผู้เขียน เช่น มีกรอบที่ชัดเจน

  • ดี มีความเข้าใจในตัวบท แนวความคิด มีความสามารถในการสื่อความหมาย 
  • ดีมาก ผ่านเกณฑ์ ดี แล้วมีสิ่งที่เพิ่มคือ มีความเข้าใจในตังบทอย่างลึกซึ้ง มีความสามารถในการสื่อความหมายระดับสูงมีการศึกษาวิเคราะห์ละเอียดลึกซึ้ง
  • ด้เด่น ผ่านเกณฑ์ ดีมากและมีสิ่งเพิ่มเติมคือ แปลจากต้นฉบับที่มีความสำคัญ มีผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในวงวิชาการ เป็นลักษณะ เป็นการบุกเบิกทางวิชาการ



วันอาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2560

การขอตำแหน่งทางวิชาการด้วย ระเบียบเดิม

หลังจากมีประกาศ ระเบียบ กพอ. ใหม่ เรื่องการขอตำแหน่งทางวิชาการ สร้างความตื่นตกใจกับบรรดาอาจารย์มหาวิทยาลัย หลายท่านเร่งขอตำแหน่งทางวิชาการ หลังจากที่รอไปรอมานานหลายปี แต่ปัญหา ที่หลายคนพบ คือ จะต้องเตรียมงานอะไร เท่าไร จึงจะพอ นอกจากชั่วโมงสอน และผ่านการประเมินการสอนแล้ว บทความนี้ จะอ้างถึงระเบียบเดิม เป็นหลัก เพราะจะใช้ไปจนถึง เดือนตุลาคม 2561 หากไม่มีประกาศเปลี่ยนแปลง
การขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ สำหรับผู้เป็นอาจารย์ประจำ มี 2 วิธีใหญ่ๆ คือ วิธีปกติ กับวิธีพิเศษ ซึ่งวิธีปกติ ผู้ขอจะต้องมีคุณสมบัติครบ ด้านวุฒิการศึกษา ระยะเวลาในการทำงาน ระยะเวลาหลังจากได้รับตำแหน่งเดิม อาทิเช่น จบการศึกษาระดับปริญญาเอก ต้องปฏิบัติงานเป็นอาจารย์ 2 ปี จึงจะมีคุณสมบัติขอตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ได้ หรือ เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ 3 ปี จึงจะขอกำหนดตำแหน่งรองศาสตราจารย์ได้ เป็นรองศาสตราจารย์ 2 ปี จึงจะขอตำแหน่ง ศาสตราจารย์ได้ และจะต้องขอในศาขาเดิม เช่น เริ่มต้นเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์สาขาศัลยศาสตร์ ก็ต้องขอตำแหน่งรองศาสตราจารย์สาขาศัลยศาสตร์ ต่อ หากจะเปลี่ยนสาขา เช่น เดิมเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์สาขาศัลยศาสตร์ แต่ภายหลัง ได้ทำงานด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉิน หากจะขอกำหนดตำแหน่งรองศาสตราจารย์สาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน จะต้องขอด้วยวิธีพิเศษ
การขอตำแหน่งด้วยวิธีปกติ ยังมี2วิธี คือวิธีที่ 1กับวิธีที่ 2 ซึ่งวิธีที่ 1 ใช้ ผลงานวิจัย/ผลงานทางวิชาการลักษณะอื่น(สิ่งประดิษฐ์) ร่วมกับ ตำรา/หนังสือ หรือบทความทางวิชาการ(สำหรับการขอตำแหน่งระดับต้น) ส่วนวิธีที่ 2 ใช้ผลงานวิจัยเพียงอย่างเดียว หรือใช้ตำราเพียงอย่างเดียว
เมื่อ ได้รับตำแหน่ง ไม่ว่าจะมาด้วยวิธีที่ 1 วิธีที่ 2 หรือวิธีพิเศษ ผู้ได้รับตำแหน่ง จะได้ตำแหน่ง ที่เรียกว่า ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ ศาสตราจารย์ ตามลำดับ
การขอด้วยวิธีพิเศษ เป็นการขอที่ผู้้ขอมีคุณสมบัติไม่ครบ เช่น เวลาไม่ครบ ตามเกณฑ์ที่จะขอแบบปกติ หรือเป็นการขอแบบข้ามขั้น เช่น จากอาจารย์ เป็น รองศาสตราจารย์ จากผุ้ช่วยศาสตราจารย์ ข้ามไป ศาสตราจารย์เลย เป็นต้น หรือ เปลี่ยนสาขา การขอด้วยวิธีพิเศษ จำนวนผลงาน คุณภาพผลงาน จะมากกว่าการขอด้วยวิธีปกติ รวมถึงจำนวนผู้ประเมิน แทนที่จะเป็น 3คน ใช้เสียงส่วนใหญ่ เช่นการขอแบบปกติ จะต้องใช้ 5 คนใช้เสียง 4ใน5
ส่วน คำว่าผู้ช่วยศาสตราจาย์(พิเศษ) รองศาสตราจารย์(พิเศษ) หรือศาสตราจาย์(พิเศษ) เป็นตำแหน่งสหรับผู้ที่เป็นอาจารย์พิเศษ
สำหรับผลงานที่ใช้ ในการขอตำแหน่งระดับต่างๆ ตามระเบียบเดิม สรุปได้ดังนี้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ 
วิธีปกติ วิธีที่ 1

  • คุณภาพการสอน  ชำนาญ
  • เอกสาร การสอน คุณภาพ ดี 1 เรื่อง
  • งานวิจัย 2 เรื่อง โดย 1 เรื่องมีคุณภาพ ดี ผู้ขอ ต้องเป็นชื่อแรก และมีส่วนร่วมไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 หรือ เป็น corresponding author ( มีหลักฐานระบุ ในวารสาร หรือจดหมายติดต่อกับบรรณาธิการ หรือเป็นผู้ขอทุน ขออนุมัติกรรมการวิจัยในคน) สำหรับ corresponding author ใช้เฉพาะผู้ที่เป็นพนักงานมหาวิทยาลัย และควรได้รับส่วนแบ่งในผลงานนั้น ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 หากไม่มีผลงานที่ได้รับส่วนแบ่งถึงร้อยละ 50 แต่มีผลงานเป็นชุดโครงการ สามารถนำผลงานที่เป็นชุดโครงการ รวมส่วนร่วมมารวมกัน ได้ร้อยละ 50 โดยตนเอง ได้เป็น primary investigator ในบางโครงการ
  • อาจใช้ ผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่น คือสิ่งประดิษฐ์ ที่ได้รับ สิทธิบัตร แทน งานวิจัยได้
  • บทความทางวิชาการ ลงพิมพ์ ในวารสาร ที่อยู่ในฐานข้อมูล TCI กลู่ม 1 หรือ 2 หรือ ตำรา/ หนังสือ เป็นบท
วิธีปกติ วิธีที่ 2

  •  คุณภาพการสอน ชำนาญ 
  • เอกสารการสอน คุณภาพ ดี 1 เรื่อง
  • งานวิจัย 3 เรื่อง และ 2 เรื่อง อยู่ในเกณฑ์ ดี เป็นชื่อแรกและมีส่วนร่วม ร้อยละ 50 หรือเป็น corresponding author
  • การขอวิธีนี้ ไม่รับ บทความทางวิชาการ หรือ ตำรา/หนังสือ
วิธี พิเศษ

  • คุณภาพการสอน ชำนาญ
  • เอกสารการสอน คุณภาพ ดี 1 เรื่อง
  • งานวิจัย เหมือนกับวิธีปกติ คือ 3 เรื่อง แต่คุณภาพ ต้องดีมาก
  • การขอด้วยวิธีพิเศษ มีผู้ประเมิน 5 คน จะต้องได้คะแนน 4 ใน5

รองศาสตราจารย์
วิธีปกติ วิธีที่ 1

  • ผลการสอน คุณภาพ ชำนาญพิเศษ
  • เอกสารการสอน คุณภาพ ดี 1 เรื่อง
  • งานวิจัย 3 เรื่อง และ 1 เรื่อง คุณภาพ ดี โดยเป็นชื่อแรก และมีส่วนร่วมไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 หรือ เป็น corresponding author หาก เป็นชุดโครงการ รวมกัน ได้ร้อยละ 50 โดยได้เป็น primary investigator บางโครงการ หากใช้ผลงานทางวิชาการลักษณะอื่น(สิ่งประดิษฐ์) ใช้ 1 ชิ้น ที่ได้สิทธิบัตร
  • บทความทางวิชาการ ต้องเป็น learned article ]พิมพ์ในวารสารที่มี impact factor  หรือ ตำรา/หนังสือ เป็นบท
แบบปกติ วิธีที่ 2

  • ผลการสอน คุณภาพ ชำนาญพิเศษ
  • เอกสารคำสอน  1 เรื่อง คุณภาพ ดี
  • งานวิจัย 5 เรื่อง และ 3 เรื่อง ที่เป็นชื่อแรก มีส่วนร่วมร้อยละ 50 อยู่ในเกณฑ์ ดีมาก
วิธีพิเศษ

  • ผลงานเหมือน วิธีปกติ แต่คุณภาพ ดีมาก ผู้ประเมิน 5 ท่าน

ศาสตราจารย์
วิธีปกติ วิธีที่ 1
  • ผลการสอน เชี่ยวชาญ
  • งานวิจัย 5 เรื่อง และ 1 เรื่อง ที่เป็นชื่อแรก มีส่วนร่วม ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 หรือเป็น corresponding author อยู่ในเกณฑ์ ดีมาก ถ้าเป็นชุดโครงการ นำมารวมกัน ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 และเป็น primary investigator บางโครงการ
  • สิ่งประดิษฐ์ ที่ได้สิทธิบัตร แทนงานวิจัยได้
  • ตำรา/หนังสือ 1 (ประมาณ 80หน้า) คุณภาพ ดีมาก
วิธีปกติ วิธีที่ 2
  • ผลการสอน เชี่ยวชาญ
  • งานวิจัย 5 เรื่อง2 เรื่องอยู่ในระดับนานาชาติ  และ 1 เรื่อง ที่เป็นชื่อแรก และมีส่วนร่วม ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 อยู่ในเกณฑ์ ดีเด่น
  • หรือ หากจะใช้ หนังสือ/ตำรา ไม่ใช้งานวิจัย ต้องอยู่ในเกณฑ์ ดีเด่น
วิธีพิเศษ
  • ผลการสอน เชี่ยวชาญ
  • งานวิจัย และ หนังสือ/ตำรา เหมือนการขอโดยวิธีที่ 1 แต่คุณภาพ ระดับดีเด่น รวมถึงผู้ประเมิน 5 ท่าน ใช้คะแนน 4ใน5

วันเสาร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2560

แนวทางการประเมินหนังสือ/ตำรา

จากประสบการณ์ที่ได้มีโอกาสเป็นผู้ทรงคุณวุฒฺประเมินการจองตำแหน่งทางวิชาการ ร่วมกับได้ร่วมประชุมกับท่านอื่นๆ พอจะสรุปแนวทางที่ผู้ทรงคุณวุฒิใช้ในการประเมิน ตำรา/หนังสือ เพื่อขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการระดับสูงได้พอสังเขป เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้เตรียมตัวทำหนังสือ/ตำรา ได้ใช้เป็นแนวทาง

  • เนื้อหา สาระวิชาการถูกต้อง ตรงตามชื่อเรื่อง 
  • อ้างอิง เนื้อหาทางวิชาการสมบูรณ์ ถูกต้อง ทันสมัย ไม่ได้กล่าว ข้อความทางวิชาการขึ้นมาลอยๆ โดยไม่มีแหล่งที่มา หรืออ้างอิงโดยไม่น่าเชื่อถือ พยายามเลี่ยง การอ้างอิงด้วย "personal communication" หรือ "unpublished data" เว้นแต่การเขียนเชิงประวัติศาสตร์ ส่วนการเขียนเชิงวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิทยาศาสตร์สุขภาพ จะต้องมีหลักฐานอ้างอิง 
  • การอ้างอิงเอกสารใด ผู้เขียนจะต้องอ่านเอกสารนั้นให้ครบถ้วย ไม่ใช่อ้างต่อๆกันมา บางครั้งคนก่อนๆ อ้างผิดพลาด ก็ทำให้ผิดพลาดต่อเนื่องอีกจนจับต้นชนปลายไม่ถูก
  • เนื้อหา มีระบบ ระเบียบ ที่เป็นประโยชน์ สำหรับผู้อ่านระดับอุดมศึกษา ไม่ใช่เป็นความรู้สำหรับประชาชนทั่วไป หรือ นักเรียนประถมศึกษา มัธยมศึกษา
  • มีการ วิเคราะห์ สังเคราะห์ ความรู้ ข้อมูลทางวิชาการ ไม่ใช่ แปลมา หรือ เพียงนำข้อมูลต่างๆมานำเสนอให้ผู้อ่านคิดเอง
  • มีการสอดแทรกประสบการณ์ งานวิจัยของผู้เขียน โดยสอดแทรกอย่างเหมาะสม ไม่พยายามสอดแทรกทั้งๆที่เนื้อหาที่เขียนไม่ได้เอ่ยตึงประเด็นนั้นๆ
  • มีข้อสรุปที่ผู้อ่านสามารถนำไปปฏิบัติต่อได้ หรือใช้เป็นแหล่งอ้างอิงได้
  • หากมีลักษณะเป็นการบุกเบิกทางวิชาการด้านใดด้านหนึ่ง จะดีมาก
  • มีการกระตุ้นให้ผู้อ่านเกิดความคิดต่อเนื่อง และมีความน่าเชื่อถือ
  • เนื้อหาต้องไม่น้อยเกินไป หนังสือประเภท atlas ที่ไม่มีเนื้อหามากพอ หรือ manual คุณภาพมักไม่ผ่านเกณฑ์ 





ข้อผิดพลาดที่พบบ่อย ในการใช้ตำรา/หนังสือ เพื่อขอตำแหน่งทางวิชาการ

ในฐานะที่ได้มีโอกาสเป็นกรรมการพิจารณาขั้นต้น คัดกรอง การก้าวสู่ตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์มหาวิทยาลัย มาเป็นระยะเวลานานพอสมควร ได้เห็นผลงานที่ผ่านการประเมิน และที่ไม่ผ่านการประเมินมามาก พอจะสรุปได้คือ

  • ผิดพลาดในด้านคุณสมบัติ กล่าวคือ ไม่ครบองค์ประกอบของ ตำรา/หนังสือ ที่พบบ่อยได้แก่ ขาดดัชนีค้นคำ แต่มีหลายครั้ง ที่ขาดชื่อโรงพิมพ์ ดังนั้นจึงควรใส่ใจการกัรทำหนังสือ /ตำรา หลายคนทำหนังสือคู่มือ (manual) หรือ Atlas ที่ขาดรายละเอียดเน้อหา เป็นเพียงข้อสรุป หรือย่อความ  ทำให้ไม่ครบคุณสมบัติของตำรา นอกจากนั้น ระยะเวลาที่เผยแพร่ เช่น หากเป็นตำราต้องเผยแพร่ ไม่น้อยกว่า 1 ภาคการศึกษา หรือหนังสือไม่น้อยกว่า 4 เดือน ก็พบบ่อยที่นำมใช้ขอกำหนดตำแหน่งก่อนเวลา
  • ผิดพลาดด้ายจริยธรรม พบได้บ่อย ที่นำรูปที่มีลิขสิทธิ์มาใช้โดยไม่ได้ขออนุญาต ดังนั้นการนำรูปของผู้อืนมาใช้จะต้องขออนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร และพิมพ์ข้อความว่านำมาจากที่ใดให้ใกล้กับรูปนั้นๆ การดัดแปลงรูป ตาราง จะต้องดัดแปลงจริง การแปลจากอังกฤษเป็นไทยในตาราง แต่องค์ประกอบคงเดิม ไม่ถือเป้นการดัดแปลง และควรจะมีต้นฉบับเตรียมไว้ให้คณะกรรมการได้ดูหากมีข้อสงสัยว่าเป็นการดัดแปลงจริงหรือไม่
  • ผิดพลาดด้านคุณภาพ ที่พบบ่อยได้แก่ มีคำผิดมาก เกินกว่าจะยอมรับได้ ไม่มีการตรวจพิสูจน์อักษรที่ดีพอ บางครั้งมีการพิมพ์ชื่อผู้เขียนผิด คุณวุฒิผิด ใส่ชื่อผู้เขียนไม่ครบ แม้แต่ใส่เกินมาก็ยังเคยพบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนังสือที่มีการพิมพ์หลายครั้ง บทที่เคยมี อาจจะถูกตัดออกในการพิมพ์ครั้งถัดไป เพราะอาจจะไม่ทันสมัย แต่ลืมนำชื่อผู้เขียนใน version เก่าออกจาก file ศัพท์ที่ใช้ไม่สม่ำเสมอ สลับไปมาในศัพท์ที่มีความหมายเดียวกัน
  • ตำราเป็นภาษาไทย แต่หน้าปกใช้คำภาษาอังกฤษ font ใหญ่กว่าภาษาไทย มองเห็นชัดเจนกว่าภาษาไทย
  • เนื้อหาน้อย แต่พยายามยืดความยาวออก ด้วยเทคนิคบางประการ เช่น ขยาย font  เพิ่มช่องว่าง ใส่รูปที่ไม่จำเป็น ไม่ได้ช่วยในการสื่ออะไร
  • เนื้อหาขัดแย้งกันเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีผู้เขียนหลายคน
  • ผู้เขียนคำนิยม ไม่ได้อ่านเนื้อหาด้านในมาก่อน ทำให้คำนิยมกับเนื้อหาไปในทิศทางต่างกัน
  • เชิญให้ผู้ที่มีโอกาสเป็นผู้ประเมินเมื่อขอตำแหน่งทางวิชาการ มาร่วมเขียน หรือ เขียนคำนิยม หรือกล่าวถึงในกิตติกรรมประกาศ ทำให้ท่านเหล่านั้น ไม่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในการประเมิน ซึ่งในทางปฎิบัติ เราจะต้องตั้งผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันอื่น หากมีไม่ครบก็แต่งตั้งจากผู้เกษียนอายุจากสถาบันเดียวกันกับผู้ขอได้ หากไม่มีพออีกก็ต้องตั้งจากต่างสาขา ซึ่งมีโอการจะเข้าใจเนื้อหาลึกซึ้งน้อยกว่าผู้ที่ทำงานด้านเดียวกัน 

วันพฤหัสบดีที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2560

เตรียมตัวเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการอย่างไรดี

การก้าวสู่ตำแหน่งทางวิชาการให้ประสบผลสำเร็จ นอกจากการเตรียมตัวแล้ว เราจะต้อง เตรีมงาน เตรียมเวลา และเตรียมใจด้วย
ขออธิบายเป็นส่วนๆ คือ
เตรียมใจ เมื่อเราเลือกวิถีทางในการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยแล้ว การก้าวสู่ตำแหน่งทางวิชาการ เป็นวิถีที่เป็นสากล ที่ชี้ว่าเรามีความก้าวหน้า เป็นที่ยอมรับในวงวิชาการ การมีตำแหน่งทางวิชาการ จะช่วยให้เราสามารถทำงานในความเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยง่ายขึ้น เสมือนมีใบเบิกทาง ที่สังคมยอมรับ อาทิเช่น การได้รับเชิญเป็นวิทยากร การรับทุนเพื่อทำวิจัย หากเป็นผู้มีตำแหน่งทางวิชาการ จะเป็นที่ยอมรับ และจะได้รับพิจารณาก่อน เราจึงต้องยอมรับว่า ตำแหน่งทางวิชาการเป็นสิ่งสำคัญสำหรับความเป็นอาจารย์
นอกจากประโยชน์ส่วนตนแล้ว ในส่วนขององค์กร และประเทศชาติ ก็จะได้รับประโยชน์เช่นกัน บรรดาการจัดอันดับของมหาวิทยาลัย ตัวชี้วัดหนึ่งที่พิจารณาคือ การมีคณาจารย์ที่มีคุณวุฒิ
เตรียมเวลา จะต้องจัดสรรเวลา ทำงานวิชาการ มีเวลานั่งเขียนงาน ทำวิจัย เขียนตำรา อย่างมีสมาธิ เราะงานเขียนต่างๆ ต้องใช้เวลา ที่ต่อเนื่อง เราไม่สามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพได้ หาดเจียดเวลาวันละไม่กี่นาทีในการเขียน ดังนั้นในแต่ละวันที่ตั้งใจจะเขียน จะต้องมีเวลาเป็นชั่วโมง หรือมากกว่า เพื่อจะได้เขียนให้จบเป็นบท หรือเป็นตอน หากเขียนไม่จบตอน ไม่จบบท ในวันถัดไปจะต้องมาทบทวนว่า วันก่อนๆเขียนไว้อย่างไร ทำให้เสียเวลาและงานไม่คืบหน้า นอจากนั้นในช่วงที่งานเข้มงวดขึ้น อาจจะต้องตัดงานที่ไม่จำเป็นบางอย่างออกไปบ้าง เหลือแต่งานที่จำเป็นเช่นกิจกรรมรอบครัว งานสังคมที่สำคัญ และการออกกำลังกาย
เตรียมงาน ต้องศึกษา requirement ว่าตำแหน่งทางวิชาการ แต่ละระดับ ต้องการ items อะไรบ้าง คุณลักษณะ คุณภาพ เช่นไร พยายามทำให้คุณภาพดีที่สุด ดียิ่งขึ้นไป เพราะ การขอตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้น คุณภาพของผลงานจะต้องสูงขึ้นตามลำดับ อาทิเช่น งานวิจัย ในขั้นต้นระดับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อาจจะลงตีพิมพ์ ในวารสารที่อยู่ในฐานข้อมูล TCIกลุ่ม 1 ก็เพียงพอ แต่เมื่อ ระดับสูงขึ้น ก็จะต้องตีพิมพ์ระดับนานาชาติ การวางแผนทำงานวิจัยในลำดับถัดๆไป จึงต้องวางแผนให้ผลงานออกมาดี สามารถลงตีพิมพ์ได้ ส่วนงานที่ไม่สามารถมาใช้ขอตำแหน่งทางวิชาการ เช่นการเขียนบทความทางวิชาการ บทความสำหรับประชาชน ควรจะเขียนเป็นระยะๆ เพื่อทำให้มีชื่อเสียงและเป็นการฝึกปรือฝีมือในการเขียน
จะเห็นได้ว่า การเตรียมตัว เตรียมมใจ เตรียมงาน เตรียมเวลา เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เราประสบความสำเร็จ

เริ่มต้นขอตำแหน่งวิชาการอย่างไรดี

มีอาจารย์หลายท่าน ทั้วอาจารย์ใหม่ อาจารย์เก่า มาถามผมอยู่เรื่องๆ ว่าจะเริ่มต้นในการขอตำแหน่งทางวิชาการอย่างไรให้สำเร็จ เพราะเห็นว่าผมสามารถก้าวเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการได้อย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่เริ่มเป็นอาจารย์ นับได้ 6ปีครึ่ง ก็นสามารถขอตำแหน่งศาสตราจารย์ได้ และเป็นการเข้าสู่ตำแหน่งตามปกติ ไม่ได้กระโดดข้ามขั้น เพียงแต่ ช่วงแรก ได้รับแต่งตั้งเป็นอาจารย์พิเศษ ของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มาก่อนจะโอนย้ายมาเป็นอาจารย์ประจำ จึงได้สิทธิ ลดเวลาลง กล่าวคือ แทนที่จะเป็นอาจารย์ 2 ปี ถึงจะขอตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ได้ ก็ใช้เวลาเพียง 1 ปีครึ่ง ก็ขอตำแหน่งได้ ผมเคยได้ร่วมบรรยาย ขั้นตองการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ กับรักษาการอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ท่านปัจจุบัน (ศ. นพ.บรรจง มไหสวริยะ) ชอบใจข้อสรุปของอ.บรรจง ที่สรุปอย่างได้ใจความ

  • ศึกษากฎระเบียบ
  • เปรียบเทียบเพื่อนพ้อง
  • ลองถามผู้รู้
  • สู้ไม่รู้ถอย
  • อย่าปล่อยเวลาให้ล่วงเลย
ศึกษากฎระเบียบ เป็นสิ่งสำคัญประการแรก ที่จะต้องศึกษา ในปัจจุบันกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง มีมากมาย และมีการแก้ไข เป็นระยะๆ ในปัจจุบัน เราสามารถอ่านได้จาก website หรือ intranet ของกองทรัพยากรบุคคล ทำให้สามารถเรียนรู้ได้ว่า คุณสมบัติ ของผู้ขอจะต้องมีประการใดบ้าง ผลงานที่ใช้ ต้องใช้ผลงานอะไรบ้าง ดังที่ผมกล่าวมาในตอนต้น ว่า ผมเองได้รับสิทธิ ลดเวลาลง 6 เดือนจากการที่ได้เป็นอาจารย์พิเศษ ซึ่งขณะนั้นผมยังรับราชการเป็นศัลยแพทย์ที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี
ในปัจจุบัน ทางมหาวิทยาลัย ได้เอื้อให้การขอตำแหน่งง่ายขึ้น โดยสามารถกรอกแบบประวัติ online ได้ ข้อผิดพลาดลดลงมาก
เปรียบเทียบเพื่อนพ้อง หมายถึงให้ เปรียบเทียบดูว่า เพื่อนๆ ก้าวไปถึงขั้นไหน ทำไมเราจึงก้าวไม่ทัน บางคนปล่อยให้รุ่นน้องแซงหน้า ซึ่งจะต้องทบทวนดูว่า เราเองได้ปล่อยโอกาสให้ล่วงเลยไป
ลองถามผู้รู้ หมายถึงมี mentor ที่สามารถให้คำแนะนำได้ ในทุกด้านที่จะประกอบการขอตำแหน่ง หากไม่มีก็สามารถถามผู้ที่อาวุโสกว่า ที่ก้าวสู่ตำแหน่งทางวิชาการมาก่อน อาจจะอยู่ต่างภาควิชา ต่างคณะ ก็ได้ ท่านเหล่านี้สามารถให้คำแนะนำ ในการเตรียมตัว การทำวิจัย การทำหนังสือ/ตำรา ที่ได้คุณภาพ ไม่เสียเวลาโดยใช่เหตุ
สู้ไม่รู้ถอย หลายท่านไม่ประสบผลสำเร็จในการขอตำแหน่งทางวิชาการในครั้งแรก แล้วถอดใจ ไม่สู้ต่อ ในที่สุดก็ขาดโอกาส และไม่มีกำลังใจ กำลังกายในการดำเนินการต่อ หากไม่ผ่าน ต้องนำเอาข้อสรุปของผู้ทรงคุณวุฒิมาทบทวน แก้ไข และดำเนินการต่อ
อย่าปล่อยเวลาให้ล่วงเลย หมายถึงในระยะที่ยังมีอายุน้อย ควรจะต้องทำงานหนัก เพื่อให้มีผลงาน เพราะเมื่ออายุมากขึ้น จะไม่สามารถตรากตรำ ทำงานต่อเนื่อง หรืออดนอนได้ ทำให้ไม่สามารถเนั่งขียนงานวิจัย ตำรา ได้นานๆ และอีกประการหนึ่งในขณะที่เราเป็นผู้เยาว์ จะได้รับความเอ็นดู ได้รับคำแนะนำจากผู้ใหญ่ แต่เมื่อเรามีอาวุโส โอกาสที่จะมีคนให้คำแนะนำ ด้วยความเอ็นดู จะไม่มี