วันพฤหัสบดีที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2560

การมีส่วนร่วมในผลงานทางวิชาการ

ประเด็นเรื่องการมีส่วนร่วมในผลงานทางวิชาการ เป็นเรื่องที่หลายคนไม่เห็นด้วย หลายคนที่ได้ทราบถึงการขอตำแหน่งทางวิชาการในประเทศอื่นๆ ก็ทราบว่า ในประเทศนั้นๆ ไม่มีการแบ่งความมีส่วนร่วมในผลงานทางวิชาการ แต่อย่างไรก็ดี ในประเทศไทยภายใต้กฎ กพอ. ในปัจจุบัน และในอนาคต การมีส่วนร่วมในผลงานทางวิชาการ ยังเป็นเรื่องที่ยังต้องถือปฏิบัติอยู่ ถึงแม้ว่าผู้รับผิดชอบในมหาวิทยาลัยบางแห่ง ได้เสนอผ่านไปแล้ว ให้ถือการมีส่วนร่วมในผลงานตามภาระงานที่ทำ แต่ในเมื่อยังไม่มีการแก้ไข ในฐานะที่เป็นอาจารย์ที่มี กฎของ กพอ. ครอบคลุมอยู่ในการขอตำแหน่งทางวิชาการ จึงยังต้องถือปฏิบัติต่อไป  ในบทความนี้ จึงขอกล่าวถึงสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ หรือประเด็นที่น่าสังเกต ต่อการแบ่งส่วนร่วมในผลงาน เท่าที่มีประสบการณ์จาการได้คลุกคลีใน การขอกไหนดตำแหน่งทางวิชาการมาพอเป็นสังเขป
การแบ่งส่วนร่วมในตำแหน่งวิชาการ โดยหลักการแล้ว ถือตามภาระงานที่ทำ ซึ่งในปัจจุบันแบบฟอร์มการมีส่วนร่วมในผลงานทางวิชาการ จะมีการระบุหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับผลงานนั้นๆ ว่ามีหน้าที่ใดบ้าง ซึ่งผู้เป็นผู้วิจัยหลัก จะต้องมีส่วนร่วมที่สำคัญ เช่น เป็นผู้ริเริ่มแนวความคิด ร่าง proporsal ดำเนินการขอทุน รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล เขียนบทความ เป็นต้น ในมหาวิทยาลัยมหิดลยอมรับความเป็นผู้วิจัยหลัก 2 ทาง คือ การเป็นชื่อแรก และการเป็น corresponding author แต่หารผู้ขอเป็นข้าราชการ ยังต้องใช้กฎของ กพอ. คือ เป็นชื่อแรกเพียงอย่างเดียว ซึ่งชื่อแรกที่จะเป็นงานหลักในการพิจารณาผลงานทางวิชาการ ผู้ที่เป็นผู้ดำเนินการหลักจะต้องมีส่วนร่วมไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 หากเป็นชุดวิจัย สามารถนำส่วนแบ่งในแต่ละโครงการย่อย มารวมกันให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50ได้ และจะต้องเป็น primary investigator ในบาง โครงการย่อย ส่วน corresponding author นั้น ไม่ได้ระบุว่าจะต้องมีส่วนร่วมเท่าไร แต่กรรมการวิชาการของมหาวิทยาลัยมหิดล ให้แนวทางไว้ว่า ควรมีส่วนแบ่งไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ข้อสังเกตต่างๆ จะสรุปเป็นข้อๆ ดังนี้

  1. การแสดงการมีส่วนร่วมในผลงานที่ได้มีการแบ่งเป็นลายลักษณ์อักษร และมีผู้นำไปใช้ขอตำแหน่งแล้ว จะเปลี่ยนแปลงมิได้ การลงนามในส่วนแบ่งนั้น ถือเป็น ข้อตกลงที่จะยึดถือไปตลอด การจะให้ส่วนแบ่งกันอย่างไร ให้คุยกันจนเกิดข้อตกลง หากมีผู้ร่วมวิจัย ที่ขอตำแหน่งภายหลัง จากมีผู้ขอไปล่วงหน้าแล้ว ไม่ว่าจะนานเพียงใด จะมาแบ่งส่วนร่วมกันใหม่ ที่ไม่ตรงกับครั้งก่อน ทั้งที่ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ จะทำไม่ได้ ซึ่งมหาวิทยาลัยจะมีการเก็บข้อมูลเก่าไว้ หากมีการตรวจพบภายหลังจากที่ได้รับตำแหน่งไป อาจจะนำมาสู่การถอดถอนได้  จึงแนะนำว่า แบ่งส่วนร่วมให้เสร็จสิ้นตั้งแต่ต้น แล้วทำสำเนาแจกจ่ายให้ผู้ร่วมงาน ทุกคน
  2. ผู้ที่มีชื่อเป็นผู้ร่วมดำเนินงาน ในผลงานนั้น ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใด จะต้องได้รับส่วนแบ่งทุกคน ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา ที่ทำงานชิ้นนั้นเพราะอยู่ในหลักสูตร หรือทำวิจัยไปช่วงหนึ่งแล้วเกษียน หรือลาออก หรือเสียชีวิต จะต้องมีส่วนแบ่งทั้งสิ้น การได้รับส่วนแบ่งน้อยเกินไป จะต้องอธิบายว่าเพราะเหตุใด ที่ผ่านมาที่มีจำนวนผู้ร่วมงานไม่มาก แต่ได้รับส่วนแบ่ง เพียง ร้อยละ 1 หรือเป็นจุดทศนิยม จะต้องอธิบาย ส่วนการแบ่งให้ได้ ร้อยละ 0 เพราะทำงานเนื่องจากเป็นภาคบังคับเพราะอยู่ในหลักสูตร ทำไม่ได้
  3. การมีส่วนร่วมนี้ ไม่สามารถ ยกให้ผู้ใดได้ อาทิเช่น ผู้ร่วมงานท่านใดท่านหนึ่งเกษียนอายุ และไม่มีความประสงค์จะนำการมีส่วนร่วมนั้น ไปใช้ในการขอตำแหน่งใดๆ จะยกส่วนร่วมนั้นให้ผู้ร่วมงานท่านอื่น มิได้ หรือนำเอาคำบอกกล่าว จากครอบครัวว่า ผู้ร่วมงานท่านใดท่านหนึ่งว่า ได้เคยปรารภว่า จะไม่ขอใช้การมีส่วนร่วใใดๆ ก่อนเสียชีวิต จะทำไม่ได้
  4.  ผู้ที่มีชื่อในลำดับ รอง คือไม่ใช่ชื่อแรก ได้รับส่วนแบ่งมากกว่าชื่อแรก ทั้งๆที่ไม่ได้เป็น corresponding author จะเป็นที่น่าสังเกต และไม่เข้าหลักเกณฑ์ เพราะถึงแม้จะได้รับส่วนแบ่งมาก ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ก็จริง หากไม่ใช่ชื่อแรกก็ไม่สามารถใช้ส่วนแบ่งนั้นให้เกิดประโยชน์ในการขอตำแหน่งทางวิชาการอยู่ดี
  5. Corresponding author ได้รับส่วนแบ่งในผลงานน้อยเกินไป ไม่สมกับเป็น corresponding ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลให้แนวทางไว้ ว่าไม่ควรน้อยกว่าร้อยละ 10
  6. การอ้างตัวเป็น corresponding author จะต้องมีหลักฐานยืนยัน เช่นมีการระบุในผลงานว่า ชื่อใดเป็น corresponding แต่หากในวารสารนั้นๆ ไม่ได้มีการระบุเรื่อง corresponding สามารถใช้หลักฐานประกอบได้เช่น การเป็นผู้ขอทุน การติดต่อกับบรรณาธิการ การตรวจแก้ไขบทความ เป็นต้น
  7. ต้องพยายามให้ผู้ร่วมงานลงลายมือช่่อให้ครบ หรือให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้วิจัยหลักหรือเจ้าของโครงการ หากติดต่อไม่ได้ต้องแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการติดต่อ เช่น e mail หลายครั้ง ติดต่อไปยังสถาบันต้นสังกัด หรือผ่านผู้บังคับบัญชา เป็นต้น หากไม่มีผู้อื่นลงลายมือชื่อ ส่วนแบ่งในผลงานจะหารเท่ากัน เช่น มี 5 คน จะได้ส่วนแบ่งคนละ 20% ทั้งๆที่เราเป็นชื่อแรก ต้องการจะได้50% ก็จะไม่ได้ตามนั้น
  8. การลงลายมือชื่อ ควรทำให้จบในหน้าเดียว ไม่ควรพิมพ์จนล้นไปหน้าหลัง หรือแผ่นใหม่ เพราะผู้ที่ลงนามในอีกหน้าหนึ่ง อาจจะไม่เห็นข้อความที่ตรงกันกับความเป็นจริง หมายถึงมีเจตนาไม่สุจริต โดยเมื่ผู้มีชื่อในอีกหน้าหนึ่งเห็นส่วนแบ่ง ของผู้ที่อยู่ในหน้าแรก การแบ่งอาจจะไม่ตรงกันกับที่ส่งไปยังมหาวิทยาลัย โดยมีการพิมพ์ข้อความที่แตกต่างแทน แล้วใช้การถ่ายเอกสาร หากมีรายชื่อมาก ควรลดขนาดfont หรือทำเป็น column หากไม่สามารถทำได้เพราะจำนวนผู้ร่วมงานมาก มีความจำเป็นต้องพิมพ์ 2 หน้า ก็ต้องให้ผู้ร่วมงานที่ต้องลงนามในหน้าหลัง มาลงนามอย่างสั้น ในท้ายกระดาษหน้าแรกด้วย เพื่อแสดงให้เห็นว่าได้เห็นข้อความแล้ว
  9. บางครั้งผู้ร่วมงานอยู่ในหลายสถานที่ หลายประเทศ จึงได้ส่งแบบลงลายมือชื่อแยกไปในแต่ละประเทศ เมื่อได้แบบฟอร์มกลับมา จะมีหลายแผ่น ห้ามตัดเอาลายเซ็นของแต่ละคน มาปิดรวมกันเป็นแผ่นเดียว คือ ได้มาอย่างไรต้องส่งแบบนั้นเมื่อใช้ขอตำแหน่งทางวิชาการ ถึงแม้จะดูไม่สวยงาม แต่การตัดมาปิดใหม่ ส่อไปในทางทุจริต
  10. หากไม่สามารถติดต่อผู้ใดได้ แต่เคยตกลงด้วยวาจาไว้ถึงส่วนแบ่ง เมื่อทำแบบฟอร์ม และแบ่งความมีส่วนร่วมแล้ว ห้ามปลอมลายมือชื่อ ในช่องลงลายมือช่อให้ระบุว่าติดต่อไม่ได้ แต่อย่างไรก็ดี ควรใช้ความพยายามในการติดตามมาลงลายมือชื่อให้ได้
  11.  เมื่อทำวิจัยเสร็จสิ้น ควรแบ่งการมีส่วนร่วมให้เรียบร้อย เพราะอาจจะมีการย้ายที่อยู่ หรือ อาจจะทะเลาะกัน จนไม่ยอมลงชื่อ โดยเฉพาะผู้ที่ทำวิจัยในต่างประเทศ ผู้ร่วมงานบางคน อาจจะกลับประเทศตนเอง ที่ยากต่อการติดต่อ
  12. เมื่อมีการประชุมวิชาการ จะมีโอกาสพบกับผู้ร่วมวิจัยบางคนที่ไม่ได้ติดต่อกันมาก่อน จึงควรถือแบบลงลายมือชื่อติดไปด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น