วันเสาร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ข้อผิดพลาดที่พบบ่อย ในการใช้ตำรา/หนังสือ เพื่อขอตำแหน่งทางวิชาการ

ในฐานะที่ได้มีโอกาสเป็นกรรมการพิจารณาขั้นต้น คัดกรอง การก้าวสู่ตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์มหาวิทยาลัย มาเป็นระยะเวลานานพอสมควร ได้เห็นผลงานที่ผ่านการประเมิน และที่ไม่ผ่านการประเมินมามาก พอจะสรุปได้คือ

  • ผิดพลาดในด้านคุณสมบัติ กล่าวคือ ไม่ครบองค์ประกอบของ ตำรา/หนังสือ ที่พบบ่อยได้แก่ ขาดดัชนีค้นคำ แต่มีหลายครั้ง ที่ขาดชื่อโรงพิมพ์ ดังนั้นจึงควรใส่ใจการกัรทำหนังสือ /ตำรา หลายคนทำหนังสือคู่มือ (manual) หรือ Atlas ที่ขาดรายละเอียดเน้อหา เป็นเพียงข้อสรุป หรือย่อความ  ทำให้ไม่ครบคุณสมบัติของตำรา นอกจากนั้น ระยะเวลาที่เผยแพร่ เช่น หากเป็นตำราต้องเผยแพร่ ไม่น้อยกว่า 1 ภาคการศึกษา หรือหนังสือไม่น้อยกว่า 4 เดือน ก็พบบ่อยที่นำมใช้ขอกำหนดตำแหน่งก่อนเวลา
  • ผิดพลาดด้ายจริยธรรม พบได้บ่อย ที่นำรูปที่มีลิขสิทธิ์มาใช้โดยไม่ได้ขออนุญาต ดังนั้นการนำรูปของผู้อืนมาใช้จะต้องขออนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร และพิมพ์ข้อความว่านำมาจากที่ใดให้ใกล้กับรูปนั้นๆ การดัดแปลงรูป ตาราง จะต้องดัดแปลงจริง การแปลจากอังกฤษเป็นไทยในตาราง แต่องค์ประกอบคงเดิม ไม่ถือเป้นการดัดแปลง และควรจะมีต้นฉบับเตรียมไว้ให้คณะกรรมการได้ดูหากมีข้อสงสัยว่าเป็นการดัดแปลงจริงหรือไม่
  • ผิดพลาดด้านคุณภาพ ที่พบบ่อยได้แก่ มีคำผิดมาก เกินกว่าจะยอมรับได้ ไม่มีการตรวจพิสูจน์อักษรที่ดีพอ บางครั้งมีการพิมพ์ชื่อผู้เขียนผิด คุณวุฒิผิด ใส่ชื่อผู้เขียนไม่ครบ แม้แต่ใส่เกินมาก็ยังเคยพบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนังสือที่มีการพิมพ์หลายครั้ง บทที่เคยมี อาจจะถูกตัดออกในการพิมพ์ครั้งถัดไป เพราะอาจจะไม่ทันสมัย แต่ลืมนำชื่อผู้เขียนใน version เก่าออกจาก file ศัพท์ที่ใช้ไม่สม่ำเสมอ สลับไปมาในศัพท์ที่มีความหมายเดียวกัน
  • ตำราเป็นภาษาไทย แต่หน้าปกใช้คำภาษาอังกฤษ font ใหญ่กว่าภาษาไทย มองเห็นชัดเจนกว่าภาษาไทย
  • เนื้อหาน้อย แต่พยายามยืดความยาวออก ด้วยเทคนิคบางประการ เช่น ขยาย font  เพิ่มช่องว่าง ใส่รูปที่ไม่จำเป็น ไม่ได้ช่วยในการสื่ออะไร
  • เนื้อหาขัดแย้งกันเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีผู้เขียนหลายคน
  • ผู้เขียนคำนิยม ไม่ได้อ่านเนื้อหาด้านในมาก่อน ทำให้คำนิยมกับเนื้อหาไปในทิศทางต่างกัน
  • เชิญให้ผู้ที่มีโอกาสเป็นผู้ประเมินเมื่อขอตำแหน่งทางวิชาการ มาร่วมเขียน หรือ เขียนคำนิยม หรือกล่าวถึงในกิตติกรรมประกาศ ทำให้ท่านเหล่านั้น ไม่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในการประเมิน ซึ่งในทางปฎิบัติ เราจะต้องตั้งผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันอื่น หากมีไม่ครบก็แต่งตั้งจากผู้เกษียนอายุจากสถาบันเดียวกันกับผู้ขอได้ หากไม่มีพออีกก็ต้องตั้งจากต่างสาขา ซึ่งมีโอการจะเข้าใจเนื้อหาลึกซึ้งน้อยกว่าผู้ที่ทำงานด้านเดียวกัน 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น