วันพฤหัสบดีที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2560

เริ่มต้นขอตำแหน่งวิชาการอย่างไรดี

มีอาจารย์หลายท่าน ทั้วอาจารย์ใหม่ อาจารย์เก่า มาถามผมอยู่เรื่องๆ ว่าจะเริ่มต้นในการขอตำแหน่งทางวิชาการอย่างไรให้สำเร็จ เพราะเห็นว่าผมสามารถก้าวเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการได้อย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่เริ่มเป็นอาจารย์ นับได้ 6ปีครึ่ง ก็นสามารถขอตำแหน่งศาสตราจารย์ได้ และเป็นการเข้าสู่ตำแหน่งตามปกติ ไม่ได้กระโดดข้ามขั้น เพียงแต่ ช่วงแรก ได้รับแต่งตั้งเป็นอาจารย์พิเศษ ของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มาก่อนจะโอนย้ายมาเป็นอาจารย์ประจำ จึงได้สิทธิ ลดเวลาลง กล่าวคือ แทนที่จะเป็นอาจารย์ 2 ปี ถึงจะขอตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ได้ ก็ใช้เวลาเพียง 1 ปีครึ่ง ก็ขอตำแหน่งได้ ผมเคยได้ร่วมบรรยาย ขั้นตองการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ กับรักษาการอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ท่านปัจจุบัน (ศ. นพ.บรรจง มไหสวริยะ) ชอบใจข้อสรุปของอ.บรรจง ที่สรุปอย่างได้ใจความ

  • ศึกษากฎระเบียบ
  • เปรียบเทียบเพื่อนพ้อง
  • ลองถามผู้รู้
  • สู้ไม่รู้ถอย
  • อย่าปล่อยเวลาให้ล่วงเลย
ศึกษากฎระเบียบ เป็นสิ่งสำคัญประการแรก ที่จะต้องศึกษา ในปัจจุบันกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง มีมากมาย และมีการแก้ไข เป็นระยะๆ ในปัจจุบัน เราสามารถอ่านได้จาก website หรือ intranet ของกองทรัพยากรบุคคล ทำให้สามารถเรียนรู้ได้ว่า คุณสมบัติ ของผู้ขอจะต้องมีประการใดบ้าง ผลงานที่ใช้ ต้องใช้ผลงานอะไรบ้าง ดังที่ผมกล่าวมาในตอนต้น ว่า ผมเองได้รับสิทธิ ลดเวลาลง 6 เดือนจากการที่ได้เป็นอาจารย์พิเศษ ซึ่งขณะนั้นผมยังรับราชการเป็นศัลยแพทย์ที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี
ในปัจจุบัน ทางมหาวิทยาลัย ได้เอื้อให้การขอตำแหน่งง่ายขึ้น โดยสามารถกรอกแบบประวัติ online ได้ ข้อผิดพลาดลดลงมาก
เปรียบเทียบเพื่อนพ้อง หมายถึงให้ เปรียบเทียบดูว่า เพื่อนๆ ก้าวไปถึงขั้นไหน ทำไมเราจึงก้าวไม่ทัน บางคนปล่อยให้รุ่นน้องแซงหน้า ซึ่งจะต้องทบทวนดูว่า เราเองได้ปล่อยโอกาสให้ล่วงเลยไป
ลองถามผู้รู้ หมายถึงมี mentor ที่สามารถให้คำแนะนำได้ ในทุกด้านที่จะประกอบการขอตำแหน่ง หากไม่มีก็สามารถถามผู้ที่อาวุโสกว่า ที่ก้าวสู่ตำแหน่งทางวิชาการมาก่อน อาจจะอยู่ต่างภาควิชา ต่างคณะ ก็ได้ ท่านเหล่านี้สามารถให้คำแนะนำ ในการเตรียมตัว การทำวิจัย การทำหนังสือ/ตำรา ที่ได้คุณภาพ ไม่เสียเวลาโดยใช่เหตุ
สู้ไม่รู้ถอย หลายท่านไม่ประสบผลสำเร็จในการขอตำแหน่งทางวิชาการในครั้งแรก แล้วถอดใจ ไม่สู้ต่อ ในที่สุดก็ขาดโอกาส และไม่มีกำลังใจ กำลังกายในการดำเนินการต่อ หากไม่ผ่าน ต้องนำเอาข้อสรุปของผู้ทรงคุณวุฒิมาทบทวน แก้ไข และดำเนินการต่อ
อย่าปล่อยเวลาให้ล่วงเลย หมายถึงในระยะที่ยังมีอายุน้อย ควรจะต้องทำงานหนัก เพื่อให้มีผลงาน เพราะเมื่ออายุมากขึ้น จะไม่สามารถตรากตรำ ทำงานต่อเนื่อง หรืออดนอนได้ ทำให้ไม่สามารถเนั่งขียนงานวิจัย ตำรา ได้นานๆ และอีกประการหนึ่งในขณะที่เราเป็นผู้เยาว์ จะได้รับความเอ็นดู ได้รับคำแนะนำจากผู้ใหญ่ แต่เมื่อเรามีอาวุโส โอกาสที่จะมีคนให้คำแนะนำ ด้วยความเอ็นดู จะไม่มี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น