วันอังคารที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2560

องค์ประกอบของหนังสือ/ตำรา

การทำหนังสือ/ตำรา มีหลักมีเกรฑ์ ที่เป็นที่ยอมรับ และเป็นข้อกำหนดที่ ยึดเป็นแนวทางไว้ เราไม่สามารถทำตามอำเภอใจได้ เพราะถ้าองค์ประกอบไม่ครบ จะไม่เข้าข่ายของหนังสือ/ตำรา หรือถึงแม้เข้าข่ายแต่อาจจะไม่ได้คุณภาพ
องค์ประกอบของหนังสือ/ตำรา เร้ีย่งตามลำดับ ดังนี้

  • ปก ซึ่งจะสามารถออกแบบให้น่าสนใจได้ มีสีสัน ที่ไม่ฉูดฉาดเกินไป  ไม่มีรูปมากเกินไปจนลานตา ชื่อหนังสือ/ตำรา ชัดเจน ไม่ใช้ตังอักษรเล็กเกิน ไม่ใช้ลวดลายจนอ่านลำบาก ชื่อไม่ให้ยาวเกิน 1 บรรทัด ใช้เป็นวลี ไม่ต้องผูกประโยค  หากจะต้องขยายความ ให้ใช้ font เล็กในบรรทัดถัดไป คำขยายที่นิยมใช้ในบรรทัดที่ 2  เช่น การประยุกต์ทางคลินิก, หลักการและความรู้พื้นฐาน เป็นต้น หากหนังสือมีความหนามากกว่า 200 หน้า ถ้าเป็นปกแข็งจะดูมีคุณค่า และถ้าหนาถึง 300 หน้า จะสามารถเย็บสันขึ้นกระโจมได้ เมื่อเปิดแล้วไม่แตก ตัวอย่างเช่นตำราต่างประเทศ แต่หากเป็นปกอ่อน บริเวณสันจะใสกาว เมื่อเปิดแผ่ออกจะแตก แต่หากหนังสือบาง ทำเป็นปกแข็งก็จะเทอะทะ และราคาแพง บริเวณปกนอกจากบรรจุชื่อหนังสือแล้ว ยังมีชื่อบรรณาธิการ นิยมให้ใช้เฉพาะชื่อ นามสกุล ไม่ใส่ยศ คุณวุฒิ สถานที่ทำงาน พร้อมระบุครั้งที่พิมพ์หากไม่ใช่ครั้งแรก ระบุ ISBNซึ่งเป็นเลขมาตรฐานสากลกำกับหนังสือ เราสามารถลงทะเบียนกับหอสมุกแห่งชาติแล้วขอเลขกำกับได้ ในปัจจุบัน ใช้เลข ISBN 13 หลัก ( เดิม 10 หลัก) บริเวณสันหนังสือ จะใส่ข้อความเดียวกัน ส่วนปกหลัง อาจปล่อยว่าง หรือใส่คำคมที่เป็นแง่คิด หรือหากมีผู้เขียนคนเดียวก็สามารถใส่รูปพร้อมประวัติได้ ไม่นิยมใส่ราคาหนังสือบริเวณปก
  • ใบรองปก จะเป็นข้อมูลของหนังสือ/ตำรา ได้แก่ ชื่อหนังสือ ชื่อบรรณาธิการ ชื่อโรงพิมพ์ ชื่อสำนักพิมพ์ในกรณีที่สำนักพิมพ์กับโรงพิมพ์ไม่ตรงกัน เพราะหลายสำนักพิมพ์ไม่ได้มีโรงพิมพ์ของตนเอง ครั้งที่พิมพ์ วันที่พิมพ์ และมีกรอบสี่เหลี่ยมบรรจุข้อมูลที่บรรณารักษ์ใช้ทำบัตรรายการ ข้อมูลที่อยู่ในกรอบนี้บรรณารักษ์ห้องสมุดที่มีมาตรฐานสามารถกำหนดให้ได้ โดยใช้ข้อมูลของหนังสือ เรื่องราวในหนังสือ สำนักพิมพ์ เป็นต้น ราคาหนังสือควรจะอยู่ในหน้านี้ และมักจะมีข้อความเกี่ยวกังลิขสิทธิ์ ถึงแม้ในทางกฎหมายลิขสิทธฺ์ของผู้แต่งจะได้รับการคุ้มครองโดยทันทีก็ตาม แต่มักจะใส่ข้อความปรามเอาไว้ สำหรับวันที่พิมพ์ พยายามให้เป็นต้นปี เพราะเวลาจำหน่ายจะดูที่ปีเป็นหลัก เมื่อข้ามปีจะกลายเป็นหนังสือเก่า เช่น หากพิมพ์ออกมาในเดือนพฤศจิกายน ราคาของหนังสือจะเป็นราคาหนังสือใหม่ 2 เดือน เมื่อถึงเดืนมกราคม ตัวแทนจำหน่ายจะลดราคา เพราะถือว่าข้ามปีแล้ว
  • คำอุทิศ เป็นหน้าที่แสดงความกตัญญู ต่อผู้มีพระคุณ ผู้ให้กำลังใจ ไม่ควรเยิ่นเย้อมาก หน้านี้ ควรกล่าวถึงบุพการี ครูอาจารย์ ผู้มีพระคุณ ครอบครัว  หากไม่ได้มีความสำคัญมาก ก็สามารถใช้คำรวมๆได้ เช่น ครูอาจารย์ตั้งแต่ปฐมวัยจนถึงระดับมหาวิทยาลัย ไม่จำเป็นต้องเอ่ยถึงชื่อครู
  • คำนิยม เป็นหน้าที่ผู้อื่นเขียนให้ มักจะใช้ผู้มีชื่อเสียง หรือผู้บังคับบัญชา เขียนในเชิงบวกต่อ เนื้อหาหนังสือ และต่อคณะผู้เขียนหนังสือ  หากมีการพิมพ์หลายครั้ง ให้เรียงคำนิยมการพิมพ์ครั้งหลังสุดไว้ก่อน เรียงไปหาครั้งก่อนๆตามลำดับ ก่อนเขียน ควรให้ผู้ที่จะเขียนคำนิยมได้อ่านโครร่างของหนังสือก่อน
  • คำนำ เป็นหน้าที่บรรณาธิการเขียน เพื่อชักจูงให้ผู้สนใจอ่านหนังสือ โดยจะชี้ถึงความจำเป็นที่ต้องทำหนังสือขึ้นมา ความน่าสนใจของเนื้อหา หากพิมพ์หลายครั้ง เรียงเอาครั้งหลังสุดก่อน แล้วเรียงถัดไปจนถึงครั้งที่ 1 ในคำนำนี้ สามารถกล่าวขอบคุณผู้มีส่วนช่วยเหลือ ได้ เช่น ผู้วาดภาพประกอบ ผู้เตรียมต้นฉบับ ผู้ให้ทุน แต่หาก จะกล่าวขอบคุณหลายคน หลายหน่วยงาน สามารถแยกออกมาเป็นอีก 1 หน้า วางในลำดับถัดไป เรียกว่า กิตติกรรมประกาศ
  • รายชื่อผู้นิพนธ์ เป็นชื่อผู้ร่วมเขียนทุกคน ทั้งที่เขียนเต็มบท หรือร่วกับผู้อื่น จะต้องใส่ให้ครบทุกคน รวมทั้งบรรณาธิการที่ได้เขียนด้วย แนำนำให้เรียงตามลำดับอักษร ซึ่งในภาษาไทย เราจะใช้ชื่อ ไม่ใช่ขึ้นด้วยนามสกุล เหมือนในภาษาอังกฤษ ดังนั้นจึงเริ่มด้วบ ก ไปจนจบ ไม่แนะนำให้ใส่ นายแพทย์ แพทย์หญิง ดร. ก่อนหน้าชื่อ เพราะอาจผิดพลาดได้ หากบรรณาธิการไม่ได้รู้จักผู้เขียนดีพอ เพราะชื่อบางชื่อเป็นได้ทั้งผู้ชาย และผู้หญิง บางครั้งโรงพิมพ์ถือวิสาสะแก้ให้ กลายเป็นคนละเพศ จึงแนะนำให้ใช้ ชื่อตัว ตามด้วยนามสกุล คุณวุฒิ ใส่ด้านหลังส่วนยศ ตำแหน่ง สถาบัน อยู่ในบรรทัดถัดไป ก่อนหนังสือจะพิมพ์ออกมา อาจจะใช้เวลา หลายเดือนตั้งแต่เริ่มเขียน จึงควรสอบถามผู้เขียน ถึงยศ ตำแหน่ง ที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไป นามสกุลที่อาจจะเปลี่ยน ตัวอย่างที่แนะนำ เขียนดังนี้   
                     วชิร คชการ, วท.บ., พ.บ. , น.บ. วว. ศัลยศาสตร์ยูโรวิทยา, FACS
                      ศาสตราจารย์ ,หัวหน้าภาควิชา
                      ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

    • สารบัญ เป็นการระบุ หัวเรื่องแต่ละบท ผู้เขียน และเลขหน้า ในหน้าสารบัญ ไม่ต้องใส่คุณวุฒิ และสังกัดของผู้เขียน แต่ประการสำคัญ จะต้องครบถ้วน ทุกคน และเลขหน้าจะต้องตรง
    •  เนื้อหา การกำหนดเนื้อหาในหนังสือ จะต้องไปในทิศทางเดียวกัน เช่น เริ่มต้นด้วยบทนำ ระบาดวิทยา ประวัติ การตรวจพบ การรักษา และสรุป ก็ควรให้สอดคล้องกันไปทุกบท การเขียน พยามยามใชัภาษาไทย ศัพท์ใช้ตามราชบัณฑิต แต่ในปัจจุบัน อนุโลมไม่์ใช้ศัพท์ราชบัณฑิต เพราะเข้าใจยาก และอาจจะแปลความไม่ตรง จึงมีการใช้ทับศัพท์ภาษาอังกฤษ หากจะไม่ใช้ศัพท์ราชบัณฑิต ก็ควรจะเขียนแจ้งในคำนำว่า หนังสือนี้ ขอยกเว้นการใช้ศัพท์ตามราชบัณฑิต ตามเหตุผลที่กล่าวแล้ว พร้อมยกตัวอย่าง หากมีศัพท์ หรือคำย่อมาก ให้แยกออกมาเป็นแผ่นต่างหาก ใส่ไว้ก่อนเริ่มบทที่ 1 เรียกว่า อภิธานศัพท์หรือ glossary ในส่วนของเนื้อหานี้ จะมีรายละเอียดมาก จึงจะแยกกล่าวต่างหากอีก 1 บท
    • เอกสารอ้างอิง เป็นส่วนสำคัญ ที่เมื่อกล่าวถึงข้อความสำคัญ จะต้องมีแหล่งอ้างอิง โดยการอ้างอิงในบท นิยมใช้ หมายเลขกำกับ เหนือข้อความนั้นๆ หรืออาจจะเป็นวงเล็บท้ายข้อความ ในทางสังคมศาสตร์ จะวางไว้ในหน้านั้นๆด้านล่าง แนะนำให้ใช้หลักการอ้างอิงเป็นตัวเลขวางไว้หลังข้อความยั้นๆ เป็น font เล็กอยู่บนถ้อยความที่อ้าง วิธีการเขียนเอกสารอ้างอิงใช้ระบบ Vancouver ไม่ควรอ้างพร่ำเพรื่อมากเกินไป แนะนำให้อ้าง 1. classical papers ที่เป็นจุดเริ่มต้น จุดเปลี่ยน ที่เป็นที่ยอมรับในวงการ หากไม่อ้างถึงจะดูเหมือนไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญสาขานั้น 2. papers ที่มีความน่าเชื่อถือดี เช่น เป็น RCT 3. papers ล่าสุด ที่หาได้ 4. papers ของคนไทย 5. papers ของตนเอง  แล้ว list papers ทั้งหมด ไว้ท้ายบท เรียงตามลำดับที่อ้าง papers ภาษาไทย เขียนเป็นไทย ภาษาอังกฤษเขียนเป็นอังกฤษ ส่วนนี้สามารถใช้โปรแกรมช่วยได้ จะได้ไม่ผิดพลาด
    • ดัชนีค้นคำ หรือ index อยู่สุดของเล่ม เป็นองค์ประกอบสำคัญ ที่หลายคนมักจะลืมทำ ถ้าไม่มี จะทำให้ไม่ครบถ้วนตามคำจำกัดความของหนังสือ/ตำรา ให้แยกทำ ภาษาไทย กับอังกฤษ อย่าทำปนกัน เพราะอักษรไทยกับอังกฤษจำนวนไม่เท่ากัน ลำดับความสำคัญ ถ้าจะให้ดีที่สุดควรมี 3 ลำดับ เช่น    
                    ต่อมลูกหมาก
                            เนื้องอก
                                เนื้องอกธรรมดา
                                มะเร็ง
                           อักเสบ
                               แบคทีเรีย
                               สารเคมี
                 
              ต้องเช็คให้เรียบร้อยว่า คำสำคัญ มีครบถ้วน และเลขหน้าตรง โรงพิมพ์ที่ได้มาตรฐาน ช่วยได้มาก








    tion


    ไม่มีความคิดเห็น:

    แสดงความคิดเห็น