วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

เขียนตำรา เชิงลึกหรือเชิงกว้างดี

ประเด็นที่ถูกถามอยู่บ่อยๆ ว่าจะทำตำรา/หนังสือ ในเชิงลึกซึ้งดี หรือในเชิงกว้างดี ทั้งสองแบบมีความแตกต่างกันอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีการใช้เพื่อขอตำแหน่งทางวิชาการ
ในความเป็นจริงแล้ว จะเขียนเชิงลึกหรือเขียนเชิงกว้าง ไม่เป็นประเด็นที่ทำให้คุณค่าของหนังสือ หรือตำราแตกต่างกัน ขึ้นกับกลุ่มเป้าหมาย หรือผู้อ่านเป็นหลัก หากกลุ่มเป้าหมายเป็นนักศึกษา หรือผู้ที่เริ่มจะเข้าสู่วงวิชาการ หรือเป็นแหล่งให้ผู้อ่านรื้อฟื้นความรู้ควรจะเขียนในมุมกว้าง แต่หากผู้อ่านเป็นกลุ่มที่มีความเชี่ยวชาญ อยู่ในแวดวงวิชาการแล้ว เช่นนักศึกษาระดับปริญญาโท เอก แพทย์ประจำบ้าน หรือนักวิจัย ก็ควรเขียนในเชิงลึก
ความยากง่ายของตำรา/หนังสือทั้งสองประเภทแตกต่างกัน การเขียนเชิงกว้างจะตั้งหัวเรื่องง่ายกว่า สามารถกำหนดเรื่องกว้างๆ ล้อเลียนไปกับหลักสูตร หรือโรคต่างๆที่พบบ่อย และเขียนเพื่อให้ผู้อ่านรู้เรื่องนั้นๆไปจนครบถ้วน มีการกล่าวพาดพิงไปถึงเรื่องต่างๆ เช่นสาเหตุ สิ่งแสดง อาการ การตรวจวิเคราะห์ การรักษา มีการกล่าวถึงในประเด็นต่างๆให้ครบ ผลการรักษา เป็นอย่างไร โดยไม่ต้องลงลึกไปถึงรายละเอียดว่าทำอย่างไร ผลการรักษาเปรียบเทียบกันในแต่ละวิธี มีความแตกต่างกันอย่างไร วิวัฒนาการแนวโน้มในอนาคตจะเป็นเช่นไร
เอกสารอ้างอิง ไม่ต้องมากนัก แต่ให้กล่าวถึงการอ้างอิงที่ระบุต้นสายปลายเหตุ ผลการรักษา ที่ได้เขียนไว้ในตำรา/หนังสือนั้นๆ
ความยากของการทำตำรา/หนังสือเชิงกว้าง คือผู้เขียนไม่ควรเขียนคนเดียว เพราะความน่าเชื่อถือจะน้อยลง เนื่องจาก ไม่มีใครที่จะเก่งไปเสียทุกเรื่อง อาทิเช่น หากจะเขียนถึงโรค การตรวจทางรังสีควรจะให้รังสีแพทย์เขียน การตรวจทางพยาธิวิทยาก็ควรเป็นพยาธิแพทย์เขียน ดังนั้นการเขียนหลายคนจะเป็นปัญหาในรูปแบบการเขียน การใช้ศัพท์ ที่บรรณาธิการจะต้องมาขัดเกลาให้เป็นแนวเดียวกัน อีกทั้งการส่งต้นฉบับอาจจะช้าไม่ทันตามกำหนด ทำให้หนังสือออกช้า เมื่อทวงถามอาจจะผิดใจกันได้
การเขียนเชิงลึก เหมาะกับผู้อ่านที่มีพื้นความรู้แล้ว เพียงแต่ยกบางประเด็นมากล่าวถึงให้ละเอีด กลุ่มเป้าหมายชัดเจน แต่จำนวนผู้สนใจอาจจะน้อย โอกาสทำเพื่อจำหน่ายมักจะไม่ประสบผลสำเร็จ แต่ได้ประโยชน์ในการเผยแพร่ความรู้มากกว่า ข้อดีอีกประการหนึ่งของการเขียนเชิงลึกคือสามารถเขียนคนเดียวหรือจำนวนผู้เขียน2-3คนได้ บริหารจัดการง่าย แต่จะต้องมีข้อมูลเชิงลึก เชิงเปรียบเทียบ ว่าผลอะไรด้านไหนดีกว่ากันและข้อมูลอ้างอิงจะต้องทันสมัย
อีกประการหนึ่ง การเขียนเชิงลึกสามารถแทรกประสบการณ์และผลการวิจัยของตนเองได้มาก รวมถึงแทรกสิ่งอื่นๆ เช่น คลิปการผ่าตัด เป็นต้น
แต่ในด้านการพิจารณาเพื่อตำแหน่งทางวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิจะพิจารณาจากคำนำว่าเขียนเพื่อใคร เช่น ถ้าแจ้งว่าเขียนเพื่อนักศึกษาจะต้องเป็นเชิงกว้าง แต่หากเขียนเพื่อผู้อ่านระดับปริญญาโท เอก หรือผู้มีประสบการณ์ ถ้าเขียนเชิงกว้างจะทำให้ดูเหมือนคุณภาพไม่ถึงเกณฑ์ จึงต้องเป็นเชิงลึก และที่ผ่านมา ผู้ได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ด้วย หนังสือ/ตำราเชิงกว้าก็มีไม่น้อย ไม่ได้แตกต่างจากเชิงลึก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น